วิกฤติ “เจ้าบุญทุ่ม” ทั้งในและนอกสนาม
บาร์เซโลน่า ไม่ใช่เพียงแค่ยอดทีมของศึกลา ลีก้า สเปน
แต่พวกเขาถือเป็นสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่ระดับต้นๆ ของโลกก็ว่าได้
แต่ ณ ปัจจุบัน “เจ้าบุญทุ่ม” กำลังเผชิญวิกฤติทั้งในและนอกสนาม นอกจากผลงานในลีกต่ำกว่ามาตรฐาน การบริหารจัดการถือว่าล้มเหลว มีโอกาสที่จะเข้าข่ายล้มละลายได้เลย วันนี้ FOOTBALL MOMENT จะมาสาธยายให้แฟนๆ ลูกหนังได้กระจ่างกันถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบาร์ซ่า
อดีตอันรุ่งโรจน์
นับตั้งแต่ก่อตั้งทีมเมื่อปี ค.ศ.1899 หรือเมื่อ 120 ปีก่อน บาร์เซโลน่า กวาดโทรฟี่แชมป์เข้าสู่สโมสรไปแล้วทั้งสิ้น 91 ใบ มากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของบรรดาสโมสรต่างๆ ในโลกใบนี้ โดยยักษ์ใหญ่แห่งแคว้นคาตาลัน ได้แชมป์ลา ลีก้า ลีกสูงสุดของสเปนไปทั้งสิ้น 26 สมัย แชมป์บอลถ้วยในประเทศอย่างโคปา เดล เรย์ 30 สมัย บวกกับแชมป์ยุโรปถ้วยใบใหญ่ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก อีก 5 สมัย ไม่รวมแชมป์ยิบย่อยต่างๆ นานา ที่สำคัญ บาร์เซโลน่า ยังได้จารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นสโมสรเดียวที่คว้า “ทริปเปิ้ลแชมป์” ถ้วยหลักได้ถึง 2 หน ในฤดูกาล 2008-09 และ 2014-15
อีกทั้ง บาร์เซโลน่า ไม่เคยได้ต่ำกว่าอันดับ 2 ในศึกลา ลีก้า ตั้งแต่ฤดูกาล 2008-09 โดย 13 ปีที่แล้ว พวกเขาจบแค่อันดับ 3 เป็นรองทั้ง เรอัล มาดริด และม้ามืดอย่าง บียาร์เรอัล ที่แซงหน้าขึ้นมาจบในตำแหน่งรองแชมป์ได้ อย่างไรก็ตาม บาร์ซ่า ก็ได้รับการยกย่องจากทั่วสารทิศว่าเป็นทีมลูกหนังที่ปั้นนักฟุตบอลดาวรุ่งจาก “อะคาเดมี่” ขึ้นมาประทับวงการได้มากมาย ชนิดที่ว่า เรอัล มาดริด คู่ปรับตลอดกาลไม่สามารถเทียบได้
โควิด-19 ทำพิษ
อย่างที่ทราบๆ กัน ถึงวันนี้ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับไวรัสมรณะ “โควิด-19” ที่ยังไม่มียารักษาโรคได้ ทำให้วงการกีฬา โดยเฉพาะโลกลูกหนังเผชิญกับวิกฤตการณ์อย่างแท้จริง โดย โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว ประธานสโมสร บาร์เซโลน่า เคยให้สัมภาษณ์กับ “มุนโด้ เดปอร์ติโบ” สื่อดังแดนกระทิงดุ ทำนองว่า นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ทีมแทบไม่มีรายได้เข้าสโมสรเลย มันเป็นเม็ดเงินมหาศาลราวๆ 200 ล้านยูโร หรือประมาณ 7 พันล้านบาท ในเมื่อร้านขายของที่ระลึก และพิพิธภัณฑ์สโมสร ที่มีแฟนๆ หลั่งไหลเข้ามาตลอดมีอันต้องปิดไป ที่สำคัญ บาร์เซโลน่า ไม่มีรายได้จากการขายตั๋วเข้าชมเกมให้แฟนๆ ถือเป็นการสูญแหล่งรายรับสำคัญที่สุดไป ในเมื่อแต่ละนัดสาวก “เลือดหมู-น้ำเงิน” มาชมเกมที่สนาม คัมป์ นู ที่จุผู้คนได้เกือบ 1 แสนคน
ตอนแรกตามนโยบายประจำปี บาร์เซโลน่า วางแผนว่าทีมจะทำเม็ดเงินได้ถล่มทลาย 1.1 พันล้านยูโร หรือราวๆ 38,500 ล้านบาท จากแหล่งรายรับทุกๆ ช่องทาง แต่กลายเป็นว่านับตั้งแต่มี โควิด-19 เงินมันหายไปแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
“บาร์โตเมว” สอบตกการบริหาร
แน่นอนว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น มาจากปัจจัยภายนอกที่เกินควบคุมอย่างโรคระบาด แต่ บาร์โตเมว ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบใดๆ ได้เลย ย้อนกลับไปขวบปีแรกที่เข้ามานั่งตำแหน่งประธานสโมสรแทน ซานโดร โรเซล เมื่อปลายเดือนมกราคม ปี 2014 ทุกอย่างดูสวยหรูไปหมด เมื่อ บาร์เซโลน่า ผงาดครอง “ทริปเปิ้ลแชมป์” เหมือนเป็นการเปิดศักราชใหม่อันยิ่งใหญ่ให้แก่ บาร์โตเมว
จากนั้น บาร์ซ่า ในยุคที่มี บาร์โตเมว นั่งแท่นนายใหญ่ คว้าโทรฟี่แชมป์มาได้อีก 10 ใบ แต่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น มันมีต้นทุนของมันเอง เมื่อประธานสโมสรรายนี้ ถลุงคลังเสริมทัพดึงซูเปอร์สตาร์เข้าทีมเป็นว่าเล่นเป็นเงินตัวเลขกลมๆ 1,300 ล้านยูโร หรือกว่า 4.55 หมื่นล้านบาท ขณะที่เงินรายได้จากการขายนักเตะ ตีกลับเข้าคลังมาแค่ 806 ล้านยูโร ก็ประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท งานนี้ขาดทุนเกือบครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว
โดย บาร์โตเมว รวมถึง อัลเบิร์ต โซเลร์ ผู้อำนวยการด้านกีฬาอาชีพของบาร์เซโลน่า โดนตำหนิอย่างหนักในเรื่องการดึงนักเตะเข้าทีม ปอล ป็อกบา , เออร์ลิ่ง ฮาแลนด์ , นิโกโล่ บาเรลล่า และ นิโกโล่ ซานิโอโล่ คือแข้งดาวรุ่งที่ท่านประธานเมินคว้าตัวมาร่วมทีมอย่างจริงจัง ทั้งที่นักเตะเหล่านี้สามารถต่อยอดไปเป็นกำลังหลักของบาร์ซ่า ในอนาคตได้ไม่ยาก แต่ บาร์เซโลน่า เลือกที่จะล้มเหลวไปกับสตาร์ดังๆ ในอดีตอย่าง อาร์ด้า ตูราน และ มัลคอม หรือขุนพลในทีมปัจจุบันอย่าง อุสมาน เดมเบเล่ , ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ รวมถึง อองตวน กรีซมันน์ ที่มีค่าจ้างมหาศาล ซึ่งกัดกร่อนความมั่นคงของทีมอยู่ถึงทุกวันนี้
ค่าเหนื่อยซูเปอร์สตาร์พาจน
ข้อดีของการดึงนักเตะซูเปอร์สตาร์เข้าทีม คือ ยอดผู้ชมในสนาม รายได้จากการขายสินค้าที่ระลึก แต่ในทางกลับกันผู้เล่นเหล่านี้ล้วนมีค่าเหนื่อยมหาศาลที่ บาร์เซโลน่า ต้องแบกรับ ไม่ว่าแข้งรายนั้นจะเป็นของจริง หรือแค่ของปลอมทำเหมือนก็ตาม
ยิ่งมาเจอวิกฤติ โควิด-19 บาร์ซ่า เพิ่งออกมาประกาศเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมว่า พวกเขาขาดทุนไปแล้ว 100 ล้านยูโร หรือราวๆ 3,500 ล้านบาท มีหนี้สิน 506 ล้านยูโร ประมาณ 1.77 หมื่นล้านบาท จากรายได้ที่หดหมายไป 140 ล้านยูโร (4,900 ล้านบาท) และถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป บาร์เซโลน่า ก็จะเข้าสู่ภาวะล้มละลายอย่างไม่ต้องสงสัย
ที่ผ่านมา สโมสรพยายามขอความร่วมมือจากขุนพลแข้ง “อาซูลกราน่า” แต่ดูเหมือนจะมีเพียง เกราร์ด ปิเก้ กองหลังกัปตันทีม ซึ่งเป็นลูกหม้อของสโมสร ที่ยอมลดค่าเหนื่อยตัวเองลงมา 50 เปอร์เซ็นต์ บวกกับนักเตะอีก 3 รายที่ยอมลดค่าจ้างตัวเองลงมา 30 เปอร์เซ็นต์
แต่แค่นี้มันคงไม่ช่วยอะไร ในเมื่อ ลิโอเนล เมสซี่ ยังรับค่าจ้างสัปดาห์ละ 20 ล้านบาท แต่เทพเจ้าแห่งถิ่นคัมป์ นู กลับยิงไปได้แค่ประตูเดียวในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม ขณะที่ในลีก เมสซี่ ยังเป้าสะอาด ขณะเดียวกัน กรีซมันน์ ที่ได้ค่าเหนื่อยแพงสุดอันดับ 2 ของทีม (สัปดาห์ละกว่า 11 ล้านบาท) ก็เพิ่งยิงไปเพียงลูกเดียว ทำให้ บาร์ซ่า จมอยู่อันดับ 12 ของตาราง ลา ลีก้า จากผลงานชนะ 2 เสมอ 2 แพ้ 2 มีเพียง 8 คะแนนเท่านั้น ตามหลังคู่ปรับอย่าง เรอัล มาดริด จ่าฝูงอยู่ 8 แต้มด้วยกัน
เหตุไฉนเมินแข้ง “อะคาเดมี่”
“ลา มาเซีย” คือ อะคาเดมี่ หรือ โรงเรียนลูกหนัง ที่บรรดานักฟุตบอลดาวรุ่งจากทั่วโลกเฝ้าฝันว่าจะได้ไปฝึกฝนลับฝีเท้าอยู่ที่นั่น เพื่อไต่ระดับขึ้นมาเป็นนักเตะอาชีพของบาร์เซโลน่า แต่ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ กลับมีนักเตะดาวรุ่งถูกผลักดันขึ้นไปช่วยงานชุดใหญ่น้อยลงทุกที ในทัพบาร์ซ่าชุดปัจจุบัน มีผลผลิตจาก “ลา มาเซีย” อยู่แค่ 6 คน ได้แก่ เมสซี่ , ปิเก้ , เซร์กี้ บุสเกตส์ , ฆอร์ดี้ อัลบา , เซร์กี้ โรแบร์โต้ รวมถึง อันซู ฟาติ ดาวรุ่งพุ่งแรงที่เพิ่งสอดแทรกขึ้นมาได้
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน บาร์เซโลน่า ไม่สามารถที่จะทุ่มเงินคว้านักเตะเข้ามาเสริมได้อีกแล้ว มิหนำซ้ำ พวกเขาควรโละสตาร์ค่าจ้างแพงๆ ออกไปเพื่อลดภาระของทีมด้วยซ้ำไป นี่จึงเป็นเหตุผลที่ บาร์โตเมว ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ นอกจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า การหนุนหลัง โรนัลด์ คูมัน กุนซือชาวดัตช์ ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
เมื่อ บาร์โตเมว เปิดไฟเขียวให้ คูมัน โละนักเตะตามอำเภอใจ การตัดสินใจยกเลิกสัญญากับ หลุยส์ ซัวเรซ ยังเป็นข้อกังขาถึงทุกวันนี้ ในเมื่อดาวซัลโวของทีมควรแลกเป็นเงินยูโรกลับมาได้ไม่น้อย แต่กลับเลือกปล่อยสู่ตลาดฟรีเอเย่นต์จนไปเป็นหอกข้างแคร่อยู่กับ แอตเลติโก้ มาดริด เช่นเดียวกับที่ปล่อยฟรี ราฟินญ่า ไปโลดแล่นกับ ปารีส แซงต์แชร์กแมงค์ ในลีกเอิง ฝรั่งเศส นี่ยังไม่รวมถึงแข้งดาวรุ่งจากอะคาเดมี่อย่าง การ์เลส เปเรซ , มาร์ค การ์โดน่า , เซร์กี้ ปาเลนเซีย รวมถึงพวกที่ปล่อยยืมจากการที่ คูมัน ไม่เลือกไว้ในทีม ไม่ว่าจะเป็น มุสซ่า วาเก้ , มาร์ค คูคูเรลย่า , ฆวน มิรันด้า หรือ การ์เลส เอเลน่า ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการคาดหมายว่าจะเป็น “นิว เมสซี่” แต่ ณ วันนี้ต้องระหกระเหินไปอยู่กับ เรอัล เบติส และก็ทำผลงานได้ดีทีเดียว
หากผลงานในสนามฟ้องว่าไม่มีอะไรดีขึ้น คูมัน คงต้องเจริญรอยตาม บาร์โตเมว ในไม่ช้า ก็ต้องดูว่าใครจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมากู้ชีวิตยอดทีมอย่าง บาร์เซโลน่า ให้ฟื้นคืนกลับมาซึ่งปัญหาต่างๆ คงไม่ถูกสางให้หมดไปได้แบบปัจจุบันทันด่วน ทุกอย่างมันต้องใช้เวลา ขึ้นอยู่กับว่าประธานคนใหม่จะมีกึ๋นและความกล้าแค่ไหนในการปฏิรูปทีมให้เดินหน้าต่อไปได้
ติดตามข่าวสารได้ที่ :: ข่าวฟุตบอล ใหม่สด ทุกวัน
บทความข่าวฟุตบอล :: อ่านบทความฟุตบอลก่อนหน้านี้
เว็บดูบอลออนไลน์ :: ดูบอลออนไลน์ฟรี